เทศกาลวันพ่อ
ความเป็นมาวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวา ( วันพ่อ )
5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการหนึ่งวัน เพื่อให้ประชาชนชาวไทย ได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ถือเป็นวันพ่อแห่งชาติ อีกวันหนึ่งด้วย วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความเป็นมาของวันสำคัญ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาล เมาท์ ออเบิร์น นครบอสตัน สหรัฐอเมริกา โดยนายแพทย์วิทท์มอร์ เป็นผู้ถวายการประสูติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 9 แห่งบรมจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจและเจริญพระราชจริยาวัตรเป็นเอนกประการ จำเนียรกาลผ่านมาถึงปัจจุบันที่สุดจะพรรณนาให้ครบถ้วนได้ ท่ามกลางมหาสมาคมวันพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ทรงมีกระแสพระราชดำรัสที่พสกนิกรทุกคนยังจดจำได้ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" อันคำว่าโดย "ธรรม" นั้น ทรงหมายถึง ธรรมอันล้ำเลิศที่เรียกว่า "ทศพิธราชธรรม" หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า "ราชธรรม 10 ประการ" ราชธรรม 10 ประการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดมั่นทรงปฎิบัติโดยเคร่งครัด และส่งผลถึงพสกนิกรทั่วพระราชอาณาจักรนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าฯ
วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริ่เริ่ม หลักการและเหตุผลในการจัดตั้งวันพ่อ โดยที่พ่อเป็นผู้มีพระคุณที่มีบทบาทสำคัญ ต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น "วันพ่อแห่งชาติ" ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงรักใคร่และห่วงใยตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งพระเจ้าหลานเธอทุกพระองค์ต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น "พ่อ" ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้
กิจกรรมที่ควรปฎิบัติในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
1.ประดับธงชาติที่อาคารบ้านเรือน
2.จัดพิธีศาสนสงฆ์ ทำบุญใส่บาตร อุทิศเป็นพระราชกุศล น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
3.จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
วัตถุประสงค์ของการจัดวันพ่อแห่งชาติ
1. เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม
3. เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูต่อพ่อ
4. เพื่อให้ผู้เป็นพ่อได้สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน
ค้นหางานเทศกาลอื่นๆ
Search Results Code
Friday, November 21, 2008
5ธันวาคม วันพ่อแห่งชาติ
Sunday, November 9, 2008
Chiang Mai “Yee Peng”
“สืบฮีต สานฮอย ต๋ามโคมผ่อกอย ยี่เป็งล้านนา”
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ ร่วมกับ เทศบาลนครเชียงใหม่ กำหนดจัดงาน “ประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่” “สืบฮีต สานฮอย ต๋ามโคมผ่อกอย ยี่เป็งล้านนา” หรือ Chiang Mai “Yee Peng” (Loy Krathong Festival) ขึ้น ระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2551 ตั้งแต่เวลา 18.30 – 22.00 น. โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ และเสริมสร้างภาพลักษณ์ของเชียงใหม่ให้เป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม ทำให้เกิดพัฒนาการทางด้านความผสมผสานระหว่างดนตรีล้านนากับดนตรีสากล อีกทั้งยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสกับเยาวชนในเขตจังหวัดภาคเหนือได้แสดงความสามารถในด้านดนตรี และศิลปวัฒนธรรมภายในงานอีกด้วย
กิจกรรมภายในงานแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้คือ
1. กิจกรรมการแสดง “มหกรรมคีตการล้านนา...สู่สากล”
การแสดงคีตการล้านนา... สู่สากล เป็นการแสดงศักยภาพทางด้านดนตรีพื้นเมือง ที่สามารถเล่นผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากล โดยใช้นักแสดงพื้นบ้าน เยา
วชน ลูกหลานของคนท้องถิ่น สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนทางภาคเหนือ ที่มีวิถีในการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย รักสงบ และมีการแสดงออกทางด้านดนตรี ในงานรื่นเริงต่างๆ ตามเทศกาล และประเพณีของชาวล้านนา กิจกรรมการแสดง มีดังนี้
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2551 ชื่นชมกับความสามารถของนักดนตรีพื้นบ้าน ในรูปแบบของการแสดง “ล้านนาวาไรตี้” ควบคุมการแสดงโดย ครูแอ๊ด ภานุทัต ฟังการบรรเลง ดนตรีพื้นเมือง สะล้อ ซอ ซึง กับนักแสดงกว่า 80 ชีวิต พร้อมสอดแทรกศิลปวัฒนธรรมล้านนา
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา เต็มรูปแบบ จากวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ เล่าขานตำนานล้านนา
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 ม่วนใจ๋ไปกับศิลปินพื้นเมืองจากหลากหลายสาขา ในรูปแบบของ “ลูกทุ่งล้านนา” โดยคุณวิทูรย์ ใจพรม
และวงดนตรีลูกทุ่งวงใหญ่ คุณเทิดไทย ชัยนิยม พร้อมดาวตลก ครบทีม
2. กิจกรรมการสาธิต “ลอยกระทงย้อนเวลา....หาวิถีล้านนาไทย”
เป็นการรวบรวมเอาวิถีชีวิตของชาวล้านนาในอดีตมานำเสนอ ในรูปแบบของบ้านแบบล้านนา มีการตกแต่งสถานที่ ให้ย้อนไปสู่อดีต และการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชน เยาวชนที่ได้มาร่วมงานให้คำนึงถึงความสำคัญของวัฒนธรรม และประเพณีเดือนยี่เป็งของชาวล้านนาโดยมีการสาธิตแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมหลักคือ
กิจกรรมสาธิตการทำอาหารคาว-หวาน ของล้านนา
กิจกรรมสาธิตหัตถกรรมล้านนาที่นิยมทำในวันยี่เป็ง
กิจกรรมการแสดงและจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม ของที่ระลึก อาหารล้านนา ในรูปแบบของกาดหมั้วคัวแลง
หมายเหตุ : การประกวดภาพถ่ายประเพณียี่เป็ง จะจัดแสดงและตัดสินหลังจากเสร็จงานประเพณียี่เป็งประมาณ 3 อาทิตย์
เทศบาลนครเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5325 5478, 0 5323 3178
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5324 8604, 0 5324 8607
Website : www.loikrathong.net
ที่มา : http://thai.tourismthailand.org/festival-event/grand-content-4922.html